โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) หรือเรียกโดยย่อว่าโครงการ แลนด์บริดจ์ ถูกกำหนดบทบาทให้เป็นการเชื่อมประเทศไทยเข้าสู่เส้นทางการเดินเรือระดับโลกในระดับ Global โดยเป็นประตูการค้า (Gateway) ศูนย์กลางการถ่ายลำ (Transshipment) ซึ่งจะมีการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก 2 ฝั่งทะเล (ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่บริเวณแหลมริ่ว ตำบลบางน้ำจืด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ตำบลราชกรูด อำเภอเมือง จังหวัดระนอง) โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ระยะทางประมาณ 87.50 กิโลเมตร ได้แก่ ถนนมอเตอร์เวย์ ขนาด 6 ช่องจราจร และทางรถไฟจำนวน 4 ทาง (Meter Guage 2 ทาง Standard Guage 2 ทาง) และมีการเตรียมพื้นที่การทำระบบขนส่งทางท่อไว้สำหรับ อนาคต โดยแนวเส้นทางรถไฟ Meter Guage สำหรับรถไฟโดยสาร ได้ทำการออกแบบ รายละเอียดในช่วงปี 2565-2567 ซึ่งแนวเส้นทางพิเศษระหว่างเมืองสาย ชุมพร-ระนอง จะเป็นเส้นทางที่อยู่ด้านทิศใต้ของทางรถไฟ
ดังนั้น กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม จึงจำเป็นที่จะต้อง ดำเนินการสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียด (Definitive Design) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย ชุมพร-ระนอง ให้สอดคล้องกับ บทบาท หน้าที่ ของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนี้ อีกทั้ง แนวเส้นทางของโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2567 ได้แก่ โครงการที่มีลักษณะเช่นเดียวกับทางพิเศษ พื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี โบราณสถาน และแหล่งโบราณคดีในระยะ 1 กิโลเมตร และพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมข้างต้น ทั้งนี้ เพื่อให้การพัฒนาโครงการก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่โครงการน้อยที่สุด
1. เพื่อให้บริการในการสำรวจและออกแบบกรอบรายละเอียดตลอดจนจัดเตรียมเอกสารข้อมูลประกอบการประกวดราคาและประเมินราคา สำหรับโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย ชุมพร – ระนอง ขนาด 6 ช่องจราจรหรือตามความเหมาะสม ระยะทางประมาณ 87.50 กิโลเมตร
2. เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) โดยงานด้านวิศวกรรม ต้องคำนึงถึงสภาพสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ใน Corridor ของโครงการแลนด์บริดจ์ทั้งในเชิงการก่อสร้าง การใช้งาน การบำรุงรักษาและการปฏิบัติการ (Operation & Maintenance)
1. เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่ง และเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)
2. เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน (Landbridge)
3. เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างกันด้วยระบบราง (รถไฟทางคู่) และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)
4. เพื่อให้ท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่งสามารถดำเนินการตามบทบาทท่าเรือของโครงการ ภายใต้แนวคิด “One Port Two Side”
5. เพื่อให้การเดินทางและขนส่งใช้เวลาในการเดินทางน้อย และมีความปลอดภัยมากกว่าทางหลวงทั่วไป
พื้นที่ศึกษาโครงการในเบื้องต้น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สาย ชุมพร - ระนอง ระยะทางประมาณ 87.50 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ในขอบเขต พื้นที่ 2 จังหวัด 3 อำเภอ 9 ตำบล